ระเบียบ อ.บ.ท.ท.

PDF

          ระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยกำหนดขึ้นเมื่อตั้งองค์กร และได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2534) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2534
          พ.ศ. 2535 ได้แก้ไขระเบียบฯ พ.ศ.2534 โดยเพิ่มเติมเครื่องหมายขององค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยไว้ในระเบียบ และใช้เครื่องหมายดังกล่าวมาจนปัจจุบันนี้ และกำหนดการจัดตั้งสำนักงานเครือข่าย โดยตั้งอยู่ ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อประสานงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงเป็น "ระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536" และประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2536 เนื่องจากมีการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ทำให้ที่ประชุม อ.บ.ท.ท. มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2536 องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เชิญผู้แทนโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าร่วมประชุม และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้เชิญผู้แทนโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมประชุม และเมื่อทั้ง 2 สถาบันได้จัดตั้งเป็น คณะทันตแพทยศาสตร์แล้ว ผู้แทนจาก 2 สถาบันจึงเป็นกรรมการ อ.บ.ท.ท. โดยสมบูรณ์
          พ.ศ. 2538 ได้แก้ไขระเบียบฯ พ.ศ. 2536 เนื่องจากการออกพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 จึงเกิดทันตแพทยสภา ประกอบกับมีคณะทันตแพทยศาสตร์ ตั้งขึ้นใหม่หลายคณะ ทำให้องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ต้องปรับโครงสร้างขององค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเกิดความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น จึงได้ปรับปรุงระเบียบ เป็น "ระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2538" และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2538
          พ.ศ. 2550 ได้แก้ไขระเบียบฯ พ.ศ. 2538 โดยการปรับปรุงระเบียบขึ้นใหม่ จึงได้ปรับปรุงระเบียบ เป็น "ระเบียบ
องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550" และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
          จากการแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของอนุกรรมการเป็น 3 ปี การเพิ่มระเบียบเรื่องการจัดการประชุมและการ
เดินทางไปประชุมในประเทศ และการเดินทางไปประชุมต่างประเทศ จึงได้ปรับปรุงระเบียบ อ.บ.ท.ท. อีกครั้งหนึ่ง เป็น
"ระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560" และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.
2560 จนถึงปัจจุบัน

ระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2560

หมวด 1
บททั่วไป
ข้อ 1 ระเบียบ หมายถึง ระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2560
ข้อ 2 องค์กรนี้เรียกว่า “องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย” (อ.บ.ท.ท.) ชื่อ ภาษาอังกฤษว่า
“Dental Faculty Consortium of Thailand” (D.F.C.T)
ข้อ 3 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 4 ให้ยกเลิกระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2538 และให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 5 เครื่องหมายขององค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วยกลางพื้นภาพเป็นแผนที่ประเทศ
ไทยทาบด้วยภาพงูพันคบเพลิงฐานดวงเพลิง มีตัวอักษร “ท” และด้านล่างของภาพมีคำว่า “ทนฺโต เสฏโฐ 2526”
ภาพทั้งหมดล้อมรอบด้วยขอบวงกลม 2 วง ระหว่างขอบวงกลมครึ่งบนมีคำว่า “องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์
แห่งประเทศไทย” ครึ่งล่างมีคำว่า “Dental Faculty Consortium of Thailand” (D.F.C.T) และคั่นระหว่างข้อความ
ทั้งสองนั้นด้วยเครื่องหมายดอกบัว แทนดอกบัวสุทธาสิโนบล
ข้อ 6 สำนักงานเลขาธิการอยู่ ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ ที่เลขาธิการ อ.บ.ท.ท. สังกัดอยู่
ข้อ 7 ในระเบียบนี้ คำว่า
คณะ หมายถึง คณะทันตแพทยศาสตร์ที่เป็นส่วนราชการหรือในกำกับของรัฐในประเทศไทย
วิชาชีพ หมายถึง วิชาชีพทันตกรรม
คณบดี หมายถึง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์
องค์กร หมายถึง องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
ประธานองค์กร หมายถึง ประธานองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
คณะกรรมการ หมายถึง คณะกรรมการองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
คณะอนุกรรมการ หมายถึง คณะอนุกรรมการประจำองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
ผู้บริหาร หมายถึง คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี หัวหน้าภาควิชาและคณะกรรมการประจำคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิ หมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขององค์กรผู้บริหาร
คณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
เลขาธิการ หมายถึง เลขาธิการองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
ผู้ช่วยเลขาธิการ หมายถึง ผู้ช่วยเลขาธิการองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
สมาชิก หมายถึง ผู้บริหาร อดีตคณบดี ผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ
ข้อ 8 ที่ประชุมคณบดี เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมขององค์กร
ข้อ 9 องค์กรมีรายได้จาก
(1) เงินสนับสนุนจากคณะ
(2) เงินบริจาค
(3) รายได้อื่นๆ ที่เกิดจากการดำเนินงาน ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควร ทั้งนี้ให้กำหนดเป็นระเบียบการเงิน โดย
ความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ข้อ 10 ให้ที่ประชุมคณบดีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้


หมวด 2
วัตถุประสงค์
ข้อ 11 องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของคณะต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความ
ร่วมมือประสานงาน และดำเนินการทางด้านวิชาการและวิจัย บริหารการศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน
การบริหารและพัฒนา และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคณะและวิชาชีพ


หมวด 3
องค์ประกอบ
ข้อ 12 การดำเนินงานขององค์กร ประกอบด้วย
(1) ที่ประชุมคณบดี
(2) ที่ประชุมคณะกรรมการ
(3) ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ
(4) ที่ประชุมสมาชิก
ข้อ 13 ที่ประชุมคณบดี ประกอบด้วย คณบดีทุกคณะ
ข้อ 14 ที่ประชุมคณะกรรมการประกอบด้วย
(1) คณบดีทุกคณะ
(2) กรรมการจากตัวแทนของผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะละ 1 คน
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย
(3.1) นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
(3.2) นายกทันตแพทยสภา
(3.3) ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
(3.4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณบดีจำนวนไม่เกินครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ
ในข้อ 14(1) และข้อ 14(2) รวมกัน
(4) เลขาธิการ
(5) ผู้ช่วยเลขาธิการ (ถ้ามี)
ข้อ 15 คณะอนุกรรมการแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการประจำ คณะอนุกรรมการอื่นๆ โดยคณะอนุกรรมการประจำแบ่ง
ออกเป็น 3 ชุด ประกอบด้วย
(1) คณะอนุกรรมการวิชาการและวิจัยทันตแพทยศาสตร์ มีกรอบของงาน ดังนี้
(1.1) การจัดประชุมเสนอผลงานทางวิชาการและวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์
(1.2) การจัดการศึกษาต่อเนื่อง
(1.3) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนหลังปริญญา
(1.4) ส่งเสริมงานวิจัยระหว่างคณะ
(1.5) หน้าที่อื่นๆ ซึ่งที่ประชุมคณบดี หรือคณะกรรมการ มอบหมาย
(2) คณะอนุกรรมการหลักสูตรและทันตแพทยศาสตร์ศึกษา มีกรอบของงาน ดังนี้
(2.1) ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
(2.2) ดำเนินการและประสานงานด้านการประกันคุณภาพทางวิชาการในระดับปริญญาตรี
(2.3) หน้าที่อื่น ๆ ซึ่งที่ประชุมคณบดีหรือคณะกรรมการ มอบหมาย
(3) คณะอนุกรรรมการบริหารและพัฒนา มีกรอบของงานดังนี้
(3.1) ดำเนินการ และประสานงานในโครงการพัฒนาอาจารย์
(3.2) ดำเนินการ และประสานงานในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาทันตแพทยศาสตร์
(3.3) ดำเนินการ และประสานงานในโครงการพัฒนาระบบการเก็บค่ารักษาพยาบาลในคณะทันตแพทยศาสตร์
(3.4) หน้าที่อื่น ๆ ซึ่งที่ประชุมคณบดีหรือคณะกรรมการ มอบหมาย
15.1 คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย
(1) บุคคลที่คณะกรรมการมีมติให้ดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการ
(2) ผู้แทนของคณะแห่งละ 1 คน
(3) ผู้แทนจากคณะกรรมการ 1 คน
(4) กรรมการหรือที่ปรึกษาที่ประธานคณะอนุกรรมการแต่งตั้ง
ข้อ 16 ที่ประชุมสมาชิก ประกอบด้วย
(1) ผู้บริหารของแต่ละคณะ
(2) อดีตคณบดี
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิ
(4) เลขาธิการ
(5) ผู้ช่วยเลขาธิการ (ถ้ามี)
ข้อ 17 คณะกรรมการอาจเสนอที่ประชุมคณบดีขอแต่งตั้งที่ปรึกษา คณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการเพิ่มขึ้นได้ ถ้ามีความจำเป็น

 

หมวด 4
หน้าที่และการดำเนินงาน
ข้อ 18 ประธานองค์กรมีหน้าที่
(1) เป็นประธานที่ประชุมคณบดี
(2) เป็นประธานคณะกรรมการ
(3) เป็นประธานที่ประชุมสมาชิก
(4) เป็นผู้แทนขององค์กร ในการลงนามในคำสั่ง หนังสือ ติดต่อราชการระดับกรมขึ้นไป หรือเอกสารอื่นๆ
โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณบดี หรือที่ประชุมคณะกรรมการ
ข้อ 19 ที่ประชุมคณบดีมีหน้าที่
(1) กำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร
(2) พิจารณาแต่งตั้งหรือถอดถอนเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ
(3) พิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ
(4) เสนอแผนดำเนินงาน และงบประมาณขององค์กร
(5) กำหนดอัตราเงินสนับสนุนจากคณะทันตแพทยศาสตร์ในแต่ละปี (ตามข้อ 9 (1))
ข้อ 20 ที่ประชุมคณะกรรมการมีหน้าที่
(1) เสนอนโยบายแนวทางด้านวิชาการ บริหารการศึกษา กิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคณะและวิชาชีพ
(2) วางระเบียบ แก้ไขระเบียบ ข้อบังคับหรือ แนวทางปฏิบัติตามระเบียบนี้
(3) พิจารณาและสรุปผลงานของคณะอนุกรรมการ
(4) อนุมัติแผนดำเนินงาน และงบประมาณขององค์กร
(5) พิจารณาข้อเสนอแนะจากที่ประชุมสมาชิก
(6) หน้าที่อื่นๆ ซึ่งที่ประชุมคณบดีมอบหมาย
ข้อ 21 คณะอนุกรรมการ มีหน้าที่
(1) รวบรวมศึกษาข้อมูลต่างๆ เพื่อเสนอแนวทาง และวิธีดำเนินงานต่อคณะกรรมการ
(2) เสนอแนวความคิดอันเป็นประโยชน์ต่อคณะและวิชาชีพ
(3) ดำเนินการต่อจากที่ประชุมคณะกรรมการ
(4) แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม
(5) หน้าที่อื่นๆ ซึ่งที่ประชุมคณบดี หรือ คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ 22 เลขาธิการมีหน้าที่
(1) ประสานงานและติดตามการดำเนินงานขององค์กร
(2) เป็นผู้แทนขององค์กรในกิจการทั่วไป
(3) ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ภายนอก ที่มีผลกระทบต่อองค์กรหรือวิชาชีพ
(4) รับผิดชอบบริหารในกิจการประชุม บุคลากร เอกสาร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินขององค์กร
(5) หน้าที่อื่นๆ ซึ่งที่ประชุมคณบดี หรือ คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ 23 ผู้ช่วยเลขาธิการมีหน้าที่ ตามที่เลขาธิการมอบหมาย
ข้อ 24 สมาชิกมีสิทธิและหน้าที่
(1) เข้าร่วมประชุมและเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมสมาชิก
(2) สมาชิกรวมกันตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป มีสิทธิเสนอเรื่องให้คณะกรรมการผู้บริหารพิจารณาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้
(3) สมาชิกรวมกันตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป สามารถเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมสมาชิกเพื่อพิจารณาได้ ในกรณีที่เรื่อง
ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของที่ประชุมสมาชิก ให้คณะกรรมการผู้บริหารดำเนินการในเรื่องนั้นต่อไป

 

หมวด 5
การได้มา วาระ และการสิ้นสุดสมาชิกสภาพ
ข้อ 25 คณบดีแต่ละคณะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกกรรมการจากคณะทันตแพทยศาสตร์ แต่ละคณะดังนี้
(1) กรรมการของคณะกรรมการ ตามข้อ 14(2)
(2) กรรมการของคณะอนุกรรมการแต่ละชุด ตามข้อ 15.1(2)
ข้อ 26 คณะอนุกรรมการแต่ละชุดเป็นผู้พิจารณาเสนอรายชื่อ ให้ที่ประชุมคณบดีแต่งตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ
ข้อ 27 คณะกรรมการเป็นผู้เสนอรายชื่อให้ที่ประชุมคณบดีแต่งตั้งกรรมการต่างๆ ดังนี้
(1) ประธานคณะอนุกรรมการ ตามข้อ 15(1), 15(2) และ 15(3)
(2) ผู้แทนคณะกรรมการ ตามข้อ 15.1(3)
ข้อ 28 ที่ประชุมคณบดีเป็นผู้พิจารณาและแต่งตั้งกรรมการต่างๆ ดังนี้
(1) ผู้ทรงคุณวุฒิ ตามข้อ 14(3)
(2) เลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ (ถ้ามี)
(3) ประธานคณะอนุกรรมการ ตามข้อ15
ข้อ 29 วาระของคณะกรรมการ
(1) กรรมการตามข้อ 14(2) จะมีวาระตามวาระของคณบดี
(2) กรรมการตามข้อ 14(3) มีวาระ 2 ปี และสามารถได้รับเลือกติดต่อกันต่อไปได้
(3) กรรมการตามข้อ 14(4) และ 14(5) มีวาระ 2 ปี และสามารถได้รับเลือกอีกโดยไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
ข้อ 30 วาระของอนุกรรมการแต่ละชุดมีวาระ 3 ปี
ข้อ 31 การสิ้นสุดของสมาชิก เมื่อ
(1) ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ยกเว้นอดีตคณบดี
(2) ครบวาระ
(3) ลาออก
(4) ตาย

 

หมวด 6
การประชุม
ข้อ 32 ที่ประชุมคณบดีร่วมกันพิจารณาเลือกคณบดีจากคณะใดคณะหนึ่ง เพื่อผลัดกันเป็นประธานคณะกรรมการในการ
ประชุมแต่ละครั้ง โดยให้มีการหมุนเวียนกันไปตามความเหมาะสม
ข้อ 33 ให้มีการประชุมที่ประชุมคณบดีในคราวเดียวกันกับการประชุมคณะกรรมการ และอาจกำหนดการประชุมพิเศษได้
ตามความเหมาะสม
ข้อ 34 ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง
ข้อ 35 ให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการ โดยประธานคณะอนุกรรมการแต่ละชุดรายงานความก้าวหน้า ต่อที่ประชุม
คณะกรรมการในแต่ละครั้ง ในกรณีที่มีความจำเป็นให้รายงานต่อที่ประชุมคณบดีโดยตรงได้
ข้อ 36 ให้มีการประชุมสมาชิกอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 2 ปี และมีคณบดีเข้าร่วมประชุมด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะครบเป็น
องค์ประชุม
ข้อ 37 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการหรือตัวแทนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และ
มีคณบดีเข้าร่วมประชุมด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะครบเป็นองค์ประชุม
ข้อ 38 ในกรณีประธานที่ประชุมคณะกรรมการ หรือประธานที่ประชุมสมาชิกไม่อยู่ ให้คณบดีผู้อาวุโสทำหน้าที่ประธานแทน
ข้อ 39 การเสนอวาระเข้าการประชุมคณะกรรมการ ให้แต่ละคณะเสนอเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขาธิการ ก่อน
กำหนดการประชุมอย่างน้อย 10 วัน ยกเว้นกรณีเร่งด่วนให้นำเสนอขอมติ เพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุมได้
ข้อ 40 การลงมติในที่ประชุมคะแนนเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการ หรือสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม จึงจะถือเป็นมติของที่
ประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมคณบดีสามารถเสนอให้ทบทวนมติที่ประชุมได้

 

หมวด 7
การจัดการประชุมและการเดินทางไปประชุมในประเทศ
ข้อ 41 อ.บ.ท.ท. สามารถเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมที่นอกเหนือไปจากการประชุมประจำปีได้ หากได้รับการ
อนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ อ.บ.ท.ท. และที่ประชุมคณะกรรมการ อ.บ.ท.ท. สามารถอนุมัติให้กรรมการ หรือ
ผู้ที่เหมาะสม เข้าร่วมประชุมที่จัดขึ้นภายในประเทศในหัวข้อการประชุมที่สำคัญต่อวิชาชีพ หรือการศึกษาทางทันต
แพทยศาสตร์ได้
ข้อ 42 ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการประชุม หรือเข้าร่วมประชุมใน/นอกกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล ให้เบิกจ่ายได้เฉพาะ
ค่าลงทะเบียน ตามที่จ่ายจริง

 

หมวด 8
การเดินทางไปประชุมต่างประเทศ
ข้อ 43 ที่ประชุมคณะกรรมการ อ.บ.ท.ท. สามารถอนุมัติให้กรรมการ หรือผู้ที่เหมาะสมเข้าร่วมประชุมที่จัดขึ้นในต่างประเทศ
ในหัวข้อการประชุมที่สำคัญต่อวิชาชีพ หรือการศึกษาทางทันตแพทยศาสตร์ได้
ข้อ 44 ที่ประชุม อ.บ.ท.ท. อนุมัติให้เบิกจ่ายค่าลงทะเบียน ค่าเดินทาง ค่าที่พักเหมาจ่ายรวมกับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง และ
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปปฏิบัติงาน โดยเบิกจ่ายตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินระเบียบของทางราชการ และไม่
เกินอัตราที่กำหนด ดังนี้
(1) ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม 30,000 บาท
(2) ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 40,000 บาท
(3) ทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) 50,000 บาท
(4) ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ 60,000 บาท
(5) ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา และประเทศญี่ปุ่น 70,000 บาท
ข้อ 45 ให้ผู้เดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศออกเดินทางล่วงหน้าก่อนเริ่มปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น และให้เดินทาง
กลับประเทศไทยหลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) กรณีเดินทางไปประเทศในทวีปเอเชีย ให้ออกเดินทางล่วงหน้าก่อนเวลาที่จะเริ่มปฏิบัติงานในประเทศ
นั้นๆ ไม่ เกินหนึ่งวัน และให้ออกเดินทางกลับประเทศไทยหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานไม่เกินหนึ่งวัน
(2) กรณีเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศในทวีปยุโรป หรือประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ
ให้ออกเดินทางล่วงหน้าก่อนเวลาที่จะเริ่มปฏิบัติงานในประเทศนั้นๆ ไม่เกินสองวัน และให้ออกเดินทาง
กลับประเทศไทยหลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานไม่เกินสองวัน
(3) กรณีเดินทางไปประเทศในทวีปอเมริกาใต้ หรือประเทศในทวีปแอฟริกาให้ออกเดินทางล่วงหน้าก่อนเวลา
ที่จะเริ่มปฏิบัติงานในประเทศนั้น ๆ ไม่เกินสามวัน และให้ออกเดินทางกลับประเทศไทยหลังเสร็จสิ้นการ
ปฏิบัติงานไม่เกินสามวัน
ข้อ 46 เกณฑ์การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
(1) ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เกิดรายการ โดยแสดงหลักฐานประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตรา
ต่างประเทศ หรือหลักฐานการจ่าย
(2) ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่ปงระเทศไทยก่อนวันเดินทางหนึ่งวัน ในกรณีที่ไม่มีหลักฐาน
ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประทศ หรือหลักฐานการจ่าย

 

หมวด 9

การแก้ไขระเบียบ

ข้อ 47 การยกเลิกหรือแก้ไขระเบียบนี้ทำได้ โดยมติของกรรมการไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการ ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณบดี

 

ประกาศ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2560