ประวัติและความเป็นมาของ อ.บ.ท.ท.

            องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2526 โดยความคิดเห็นร่วมกันของคณบดี และรักษาการคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกัน ในระหว่างการประชุมสัมมนา เรื่อง "การพัฒนาการเรียนการสอนและประเมินผลของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่" เมื่อวันที่ 24 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ณ เอราวัณรีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะแรกเริ่มนั้นมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้บริหาร และหัวหน้าภาควิชาของคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ปีละ 1 ครั้ง และให้คณะทันตแพทยศาสตร์ แต่ละแห่งหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดรูปแบบแนวทางการพัฒนาทางวิชาการในสาขาทันตแพทยศาสตร์ และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้ทำความรู้จัก และเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีต่อกัน
            ต่อจากนั้น ได้มีการนัดหมายประชุมครั้งแรก โดยใช้ชื่อที่ประชุมว่า "ที่ประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2526 โดยมีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินการต่อไป โดยมีองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยคณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี ของคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย และนายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป้าหมายสำคัญใน การประชุมครั้งแรกนี้ คือ "โครงการจัดตั้งสมาคมโรงเรียนทันตแพทยศาสตร์"
            ในการประชุมครั้งที่ 2 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และในการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2527 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการ ซึ่งในที่สุด นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย นับแต่นั้นมา ก็ได้มีการประชุมต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอประมาณ 1-2 เดือนต่อครั้ง โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพและประธานในการประชุม
           ต่อมา ได้มีการเสนอเรื่อง"การดำเนินงานของที่ประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย "ให้ทบวงมหาวิทยาลัยทราบ และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น คือ นายปรีดา พัฒนถาบุตร ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
           ที่ประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และได้ใช้ชื่อว่า "องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย" โดยมีชื่อย่อว่า "อ.บ.ท.ท." และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Thai Dental Faculties Board" (T.D.F.B.) มีการกำหนดระเบียบ การปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ และการปรับโครงการดำเนินงานไว้ชัดเจน มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อ ส่วนรวมสม่ำเสมอ โดยความร่วมมือของคณะทันตแพทยศาสตร์ต่างๆ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทันตแพทยสภา หน่วยงานด้านทันตกรรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ในการประชุมองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 พ.ศ.2550 ได้มีการเปลี่ยนชื่อขององค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยในส่วนภาษาอังกฤษ เป็น “Dental Faculty Consortium of Thailand” (D.F.C.T.)
           ปัจจุบันนี้ มีคณะทันตแพทยศาสตร์ 8 มหาวิทยาลัยได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพและประธานในการประชุม โดยการประชุมครบ 8 แห่งในรอบ 1 ปี โดยมีการจัดทำตารางการประชุมตามสถานที่ในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ
           การรวมตัวของกลุ่มผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย แม้ไม่ใช่องค์กรที่เป็นส่วนราชการ แต่ก็เป็นที่รับทราบและยอมรับกันในวงวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์และทบวงมหาวิทยาลัย
           การพัฒนาของวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ในอนาคตจะสำเร็จผลได้มากน้อยเพียงใด ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของมวลสมาชิกในวงวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ ในอันที่จะสานต่อกิจกรรมและงานต่างๆ ที่องค์กร ผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เริ่มไว้แล้ว ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
           ในปัจจุบันองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพทันตแพทย์มากขึ้นเป็นลำดับทั้งในส่วนของ ทันตแพทยสภา ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆที่มีทันตแพทย์สังกัดอยู่ รวมทั้งได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. สนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนในคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 8 สถาบัน เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพที่มีบุคลากรคณะทันตแพทยศาสตร์เป็นแกนนำในด้านต่อไปนี้
    • ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
    • ด้านจัดการสิ่งแวดล้อมให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ
    • ด้านบริหารจัดการองค์กรในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
    • ด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ
    • ด้านการพัฒนาหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ให้สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ
    • ด้านการศึกษาวิจัย
  2. สร้างและพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 8 สถาบัน และระหว่าง คณะทันตแพทยศาสตร์กับวิชาชีพสาธารณสุขอื่น

โดยหวังว่าโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาการทั้งด้านความคิดจิตใจ และความร่วมมือร่วมใจของคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรทุกฝ่ายในคณะและองค์กรวิชาชีพทันตแพทย์ เพื่อพัฒนาให้วิชาชีพทันตแพทย์ก้าวหน้าไปสู่ระดับสากล และเป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศต่อไป

องค์ประกอบของ องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

           ตามระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของคณะต่างๆ พร้อมทั้งร่วมมือ ประสานงาน และดำเนินการด้านวิชาการ บริหารการศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะ และวิชาชีพ สมาชิก อ.บ.ท.ท. ประกอบด้วย คณะกรรมการประจำคณะทุกคณะฯ อดีตคณบดีทุกคณะฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการ การดำเนินงานของ อ.บ.ท.ท. ประกอบด้วย

  1. ที่ประชุมคณบดี ประกอบด้วย คณบดีทุกคณะ
  2. ที่ประชุมคณะกรรมการ ประกอบด้วย
    1. คณบดีทุกคณะ
    2. กรรมการจากตัวแทนของผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะละ 1 คน
    3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย
      • (ก) นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
      • (ข) นายกทันตแพทยสภา
      • (ค) ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย
      • (ง) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณบดีจำนวนไม่เกิน
      • ครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการจากจำนวนคณบดีทุกคณะและจากจำนวนกรรมการ จากตัวแทนของผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะละ 1 คน รวมกัน
    4. เลขาธิการ
    5. ผู้ช่วยเลขาธิการ (ถ้ามี)
  3. ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประจำ ซึ่งมี 3 ชุด ประกอบด้วย
    1. คณะอนุกรรมการวิชาการ และวิจัยทันตแพทยศาสตร์
    2. คณะอนุกรรมการหลักสูตรและทันตแพทยศาสตร์ศึกษา
    3. คณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนา
    คณะอนุกรรมการประจำแต่ละชุด ประกอบด้วย
    • บุคคลที่คณะกรรมการมีมติให้ดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการ
    • ผู้แทนของคณะแห่งละ 1 คน
    • ผู้แทนจากคณะกรรมการ 1 คน
    • กรรมการหรือที่ปรึกษาที่ประธานคณะอนุกรรมการแต่งตั้ง
  4. ที่ประชุมสมาชิก อ.บ.ท.ท. ประกอบด้วย
    1. ผู้บริหารของแต่ละคณะ
    2. อดีตคณบดี
    3. ผู้ทรงคุณวุฒิ
    4. เลขาธิการ
    5. ผู้ช่วยเลขาธิการ (ถ้ามี)