ต้นธาร อ.บ.ท.ท.

          หากเปรียบ อ.บ.ท.ท. – องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยประดุจสายน้ำใหญ่ สายน้ำแห่งความร่วมมือร่วมใจกันทางวิชาการ ในการสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการบริหารจัดการซึ่งกันและกันของคณะทันตแพทย์แทนสภาพที่ดูเหมือนต่างคนต่างอยู่

          การเริ่มมาร่วมกันของสายน้ำย่อย ๆ จากเหนือ (มช.) อีสาน (มข.) กลาง (จุฬาฯ  มหิดล) และใต้ (มอ.) ตามนัยข้างต้น ทำให้สายน้ำนี้เกิดพลังแห่งความร่วมมือกันทางวิชาการของทันตแพทย์ไทย ดังปรากฏในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาของ อ.บ.ท.ท.

          ผมได้รับมอบหมายจากเลขาธิการฯ อาจารย์หมอวรานันท์ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกเก่า – แก่ มาตั้งแต่ต้น ให้เล่าเรื่องความเป็นมาตอนเริ่มต้นขององค์กรนี้ อย่างน้อยที่สุดเพื่อทันตแพทย์รุ่นน้อง รุ่นลูกได้ทราบ ในโอกาสที่ อ.บ.ท.ท. อายุ 30 ปี

เริ่มต้นธารที่เอราวัณรีสอร์ท – แม่ริม เชียงใหม่

          เดือนตุลาคม ที่เชียงใหม่เมื่อราว 30 ปีมาแล้ว อากาศจะเริ่มเย็นพอสบาย คณะทันตแพทย์เชียงใหม่ จึงเลือกเอราวัณรีสอร์ทอยู่บนดอยที่ อ. แม่ริม บรรยากาศร่มเย็นสงบ เหมาะที่จะพักผ่อนและสัมมนา รีสอร์ทนี้ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นดอยไปทางเหนือประมาณ 40 – 50 กม.น่าจะได้ เลยสวนพฤษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ไปไม่ไกล แถว ๆ นี้หากจำไม่ผิดผมเคยผ่านโรงผลิตน้ำดื่มน้ำแร่บรรจุขวดยี่ห้อหนึ่งที่ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ “เชลล์ชวนชิม” ชวนดื่ม ทำให้คิดว่าน้ำแถวนี้น่าจะดี และเลยขึ้นดอยสูงไปจากรีสอร์ทนี้ ก็จะเป็นโป่งแยง (ตำบล) ที่กว่า 35 ปีมาแล้ว อดีตอาจารย์ทันตแพทย์อาวุโสของเรา ทันตแพทย์สม อิศรภักดี ซึ่งเคยสอนวิชา Dental Histology ที่คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาฯ อยู่ๆ ท่านก็ลาออกและไปเป็นเจ้าของ เปิดคลินิก และบริษัทบางกอก เด็นทอลซัพพลาย ซึ่งในความคิดของผม อาจารย์เป็นบุคคลซึ่งมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความคิดริเริ่มแปลกที่ใครก็ไม่มีเหมือน

เอราวัณ รีสอร์ท แม่ริม สถานที่จัดสัมมนาเมื่อ 30 ปี มาแล้ว

          อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือที่พิมพ์เรื่องสั้นของอาจารย์เรื่อง “ผมเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2”เขียนและพิมพ์รวมเล่มเรื่องสั้นเมื่ออาจารย์อายุได้ 86 ปี และเขียนคำนำเมื่ออายุ 90 ปี (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพิงพเยีย – คุณโดม วุฒิชัย เป็นบรรณาธิการ) อาจารย์เขียนเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า ผมอยู่บ้านเลขที่ 195 ซอย 7 ต.โป่งแยง ทำไมผมถึงมาอยู่ที่นี่ มีคนสงสัย เมื่อ 35 ปีก่อน เพียงบอกว่าจะมาอยู่ที่เชียงใหม่ คนก็แปลกใจกันแล้ว --- ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เข้ามาปลูกบ้านเป็นหลังแรกที่ตำบลแห่งนี้ ชาวบ้านเขาก็ตื่นเต้นที่มีคนกรุงเทพฯมาอยู่ที่นี่--- “ และ “ --- ถนนเป็นดินโคลน เวลาหน้าฝนเดินทางลำบากมาก ผมได้ยินข่าวว่าโป่งแยงมีดินที่ดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ป่ายังไม่ถูกทำลาย ผมจึงขึ้นไปดู จำได้ว่าเดือนเมษายน ที่นี่อากาศชื้นเพราะมีตะไคร่จับที่หลังคาวัด ผมหาซื้อที่ได้แปลงหนึ่งตั้งใจเอาไว้ปลูกกล้วยไม้บางชนิดที่ต้องการอากาศหนาวเย็น ผมปลูกบ้านสำหรับพักผ่อน --- ตอนนั้นไม่มีไฟฟ้า แต่มีน้ำจากภูเขามากมาย --- แล้วอาจารย์หมอสมของพวกเราก็มีงานอดิเรกที่มีผลผลิตกล้วยไม้จำหน่ายนักท่องเที่ยวและจำหน่ายต่างประเทศและได้รับรางวัลประกวดกล้วยไม้ชนะเลิศจำนวนมาก

ผมเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

          ผมเขียนตรงนี้เพื่ออยากยกย่องอาจารย์และทันตแพทย์ของพวกเรา เมื่อได้มาสัมมนาแถวบ้านอาจารย์ เพราะวิสัยทัศน์เช่นนี้เหมาะสำหรับเป็นต้นธารตัวอย่างของ อ.บ.ท.ท.

          หลังจากนั้นอีกนานปี ก็มีคนจากท้องถิ่นอื่นตามไปอยู่กันเป็นจำนวนมาก เช่น”ไร่กูละเบื่อ” และบ้านของ “ ‘รงค์ วงค์สวรรค์” นักเขียนมีชื่อเสียง

          ที่นี่เอง “เอราวัณรีสอร์ท” ที่คณะทันตแพทย์เชียงใหม่ จัดให้มีการสัมมนาวิชาการ และเรื่อง “การตัดเกรด” มีผู้บริหารและอาจารย์ของคณะทันตแพทย์มช.คณบดีและรองคณบดีฝ่ายวิชาการ (ซึ่งขณะนั้นมีคณะทันตแพทย์เพียง 5 คณะ) จากจุฬาฯ มหิดล ขอนแก่น และสงขลา เข้าร่วมด้วย สัมมนา 2 วัน ในวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2526 รายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ โดยเหตุที่เนื้อที่มีจำกัด ขอให้ดูจากในรูปก็แล้วกันครับ เพราะมีจำนวนมาก ผู้ที่มาในฐานะคณบดี รองคณบดี หรือรักษาการคณบดี ก็จะมี อ.วสันต์ ตันติวิภาวิน อ.นพดล ศุภพิพัฒน์ (จุฬาฯ) อ.พิสุทธิ์ สังขะเวส อ.ชูโชติ ธนะภูมิ (มหิดล) อ.อนันต์ จิรวิบูลย์ (ขอนแก่น) อ.สัมพันธ์ ศรีสุวรรณ อ.ธำรง อนันตศานต์,อ.ทะนง ฉัตรอุทัย เป็นต้น และพิธีกรกำกับรายการคือ อ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล
          การประชุมประสบความสุข ความสำเร็จ ได้ทั้งความสนุกและสาระทั่วหน้ากัน

ปัญหาหลักขณะนั้นคืออะไร?

          การจัดสัมมนาครั้งนี้ (ยังไม่มี อ.บ.ท.ท.) เพราะมีปัญหาที่พัวพันกับภารกิจของพวกเราอยู่ ได้แก่คณะทันตแพทย์เพิ่งเริ่มเปลี่ยนการเรียนและการวัดผลของนิสิต – นักศึกษา (คณะวิชาอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน) จากวิธีการให้คะแนนเป็นระบบการให้เกรด เพื่อให้เข้าได้กับการวัดประเมินผลการเรียนตามระบบสากล

          เช่นตอนที่บางคนเรียนที่จุฬาฯ คะแนนผ่านแต่ละรายวิชาต้องผ่าน(เท่าที่จำได้) 60% ต่ำกว่าถือว่าตกวิชานั้น สอบแก้ตัวไม่ผ่านก็จะตกซ้ำชั้น หรือหากตก 2 วิชา Major หรือ ตกวิชา Major 2 วิชา minor ก็จะตกซ้ำชั้นเรียนใหม่ทุกวิชาและหากปีต่อมายังตกซ้ำชั้นนั้นอีก ก็จะถูกไล่ออก

          ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่จุฬาฯ ช่วงนี้มีนักศึกษาสอบตกหลายคน (อาจไม่คอยสนใจเรียน) ความจริงแล้วพวกที่สอบตกจะสำนึกหรือไม่สำนึกตัวก็ตามที ก็จะกลุ้มใจ ทุกข์ใจทุกคน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมเถื่อนปลอบใจกันเอง ตั้งชื่ออย่างหรูว่า “Fellow of Dental Repeater Association – F D R A” ผมเองก็เป็นคนหนึ่งของสมาชิกชมรมนี้ เป็นชมรมที่ อ.บ.ท.ท. ในโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขน่านำไปวิเคราะห์ ตามข้อเสนอของสมาชิกชมรมฯคนหนึ่งเคยเสนอไว้ (พลตำรวจตรีเสริมสุข จันทนชาติ F.D.R.A. รุ่น อ.หมอสุรินทร์ ชูชาติไทย) (ในหนังสืออนุสรณ์ ผศ.ทพ.สุรินทร์ ชูชาติไทย)

          การเปลี่ยนมาใช้ระบบการให้เกรดในการวัดผลนิสิต – นักศึกษา ต่อการให้ได้ – ให้ตก – ให้ออก ก็มีปัญหาในวิธีการพิจารณาเกณฑ์การประเมินเช่นเดียวกัน จนบางครั้งมีมากกดดันทั้งผู้สอน ผู้เรียน ไปจนถึงผู้บริหารคณะ

          ปัญหาอี่น ๆ ที่สำคัญในช่วงนี้ก็มีเช่น เนื้อหาของหลักสูตร,คุณภาพของนักศึกษา,แนวคิดการจัดหลักสูตร ทบ.ว่าจะเป็น 4 ปี หรือ 5 ปี หรือ 6 ปีดี? เป็นต้น

เราคิดอะไร?

          จะว่าเราเป็นกลุ่มยังเติร์กในตอนนั้นก็พอได้ (ก็ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกัน)มีความเห็นพ้องร่วมกันว่า เพราะมีปัญหาเยอะ แล้วก็ต่างคนต่างคิดต่างทำ ตอนนั้น คณะเก่ามากก็มีจุฬาฯ คณะเดียว (43 ปี) พอจะเก่าบ้างก็มีมหิดล(15 ปี) เพราะมีอาจารย์เก่าจำนวนหนึ่งที่มีประสบการณ์จากจุฬาฯ ไปสอน นอกนั้นจะถือได้ว่าคณะใหม่หมด คือใหม่ทั้งจำนวนปีที่เป็นคณะ (มช. – 11 ปี, มข.4 ปี มอ.เริ่มเป็นคณะไม่ถึงปี) และตัวอาจารย์ก็ใหม่เกือบหมด ก็อาจจะงู ๆ ปลา ๆ ไปบ้างตามประสบการณ์

          จึงเห็นควรถึงเวลาที่จะร่วมด้วยช่วยกันผดุงวิชาการ – วิชาชีพให้มีระบบการทำงานร่วมกันแทนที่จะต่างคนต่างทำ  เป้าหมายคือสมาคมโรงเรียนทันตแพทย์ และมีความหวังให้มีพัฒนาการไปเป็นทันตแพทยสภา ต่อไป

แล้วเราช่วยกันทำอะไร?

          จึงนัดหมายกันว่ากลับจากสัมมนาที่เอราวัณรีสอร์ท ลงดอยไปแล้วอย่าลืมให้คณะทันตแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดสัมมนาครั้งนี้ตามติดลงดอยไปจนกว่าจะเริ่มสำเร็จ แล้วเราก็เริ่มมีวันสำคัญนั้นจริง ๆ ด้วยเป้าหมายดังข้างต้น

          จึงมีการประชุม อ.บ.ท.ท. ตอนนั้นเรียก “ที่ประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2526 โดยมีคณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงาน โดยมีองค์ประกอบผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละครั้ง ประกอบด้วย คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี ของคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย และนายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป้าหมายสำคัญคือ “โครงการจัดตั้งสมาคมโรงเรียนทันตแพทยศาสตร์”

          และตามมาด้วยการประชุม 1 – 2 เดือนต่อครั้งสม่ำเสมอ หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพประธานการประชุม